รู้หรือไม่ว่า “ฟอนต์” เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะรูปแบบฟอนต์สามารถบอกถึงตัวตนของธุรกิจได้ดี ทั้งยังมีผลต่อการสร้างการรับรู้ และการสร้างการจดจำของกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย นอกจากนี้ ฟอนต์ ยังเป็นส่วนสำคัญในการทำงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ กราฟิก เว็บไซต์ ผลิตภัณฑ์ ทุกอย่างล้วนต้องใช้ฟอนต์เป็นส่วนประกอบในการสื่อสาร ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงไม่สามารถละเลยการเลือกใช้ฟอนต์ได้เลย
แต่สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าธุรกิจของเรานั้นเลือกใช้ฟอนต์ได้เหมาะสมแล้วหรือยัง ลองตาม DIGITORY ไปดูเทคนิคในการเลือกใช้ฟอนต์ให้เหมาะสมกับธุรกิจกันได้เลยค่ะ
ภาพลักษณ์ของธุรกิจเป็นอย่างไร
ในการเลือกรูปแบบฟอนต์สำหรับธุรกิจ อันดับแรกควรวิเคราะห์ตัวตนของแบรนด์ก่อนว่า จุดเด่นของเราคืออะไร อยู่ในตำแหน่งไหนของการตลาด วางภาพลักษณ์ไว้แบบไหน รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเราคือใคร มีความสนใจและพฤติกรรมเป็นอย่างไร เมื่อได้ Position ของแบรนด์แล้ว เราก็จะสามารถคัดเลือกฟอนต์ที่มีสไตล์สอดคล้องกับแบรนด์ของเราได้ง่ายขึ้น
จะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายแบบไหน
ฟอนต์แต่ละรูปแบบสามารถสื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกที่แตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาคือการรูปแบบการสื่อสารที่ต้องการส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นแบบไหนและสอดคล้องกับภาพลักษณ์ของแบรนด์หรือไม่ ซึ่งรูปแบบฟอนต์ที่นิยมใช้กัน สามารถแบ่งออกเป็น
- 1.Serif คือแบบอักษรที่มีขีดเล็ก ๆ อยู่ตรงปลายสุด ให้ความรู้สึกคลาสสิก ดั้งเดิม มั่นคง
- 2.Sans Serif คือแบบอักษรไม่มีหัว คือไม่มีขีดที่ปลายอักษร ให้ความรู้สึกเรียบง่ายและทันสมัย
- 3.Script คือแบบอักษรลักษณะเล่นหาง หรือแบบลายมือเขียน ให้ความรู้สึกสวยงาม สร้างสรรค์ ไม่จริงจัง
- 4.Novelty เป็นแบบอักษรตัวหนา ให้ความรู้สึกโดดเด่น สะดุดตา ดึงดูดความสนใจ
ตัวอย่างเช่น การใช้ฟอนต์ที่มีลูกเล่น จะให้ความรู้สึกไม่จริงจัง สร้างสรรค์ เหมาะกับธุรกิจประเภทให้ความบันเทิง หรือสินค้าเกี่ยวกับเด็ก แต่หากเป็นธุรกิจที่มีการให้ความรู้ ดูจริงจัง หรือต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ก็อาจเลือกฟอนต์ที่ดูเป็นทางการมากขึ้น
ลูกค้าสามารถอ่านฟอนต์เหล่านี้ได้ง่าย
สิ่งสำคัญในการเลือกใช้ฟอนต์ก็คือการอ่านง่าย เห็นแล้วเข้าใจได้ในทันที ดังนั้น เมื่อเลือกรูปแบบฟอนต์ใด ๆ ก็ตาม ลองเขียนข้อความด้วยฟอนต์นั้น ๆ แล้วลองอ่านดูว่าเข้าใจได้ในทันทีไหม หรือมีคำไหนที่เห็นแล้วยังสับสนว่าคำนี้เขียนว่าอะไร วิธีทดสอบง่าย ๆ ให้ลองพิมพ์ I (ไอ) ตัวพิมพ์ใหญ่ ตามด้วย l (แอล) ตัวพิมพ์เล็ก และเลข 1 ถ้าอ่านแล้วรู้ว่าเป็นตัวอักษรและตัวเลขอะไร แปลว่าฟอนต์นั้นสามารถอ่านได้ง่าย
ฟอนต์ที่เลือกสามารถใช้ได้ดีกับทุกแพลตฟอร์ม
สิ่งสำคัญอีกประการที่อยากให้ทดลองก่อนเลือกใช้ฟอนต์สำหรับธุรกิจ คือลองตรวจสอบดูว่าฟอนต์ที่เลือกนั้นสามารถแสดงผลได้ดีในแพลตฟอร์มที่ต่างกัน เช่น บนโทรศัพท์มือถือ แท๊บเล็ต คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หากพบว่ามีการแสดงผลที่แตกต่างกันและอาจส่งผลต่อการสื่อสาร ก็อาจพิจารณาเลือกฟอนต์รูปแบบอื่น ๆ มาใช้แทน
ดังนั้น ก่อนเลือกรูปแบบฟอนต์ที่จะนำมาใช้กับการทำธุรกิจ อย่าลืมลองทำตาม 4 เทคนิคที่ DIGITORY ได้บอกไว้ข้างต้น รับรองว่า ไม่ว่าจะงานออกแบบกราฟิก แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ หรือโลโก้ของแบรนด์ ก็จะสวยสะดุดตา และสามารสร้างการจดจำได้อย่างแน่นอน