ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านเชื่อมาหลายคนเคยได้ยินคำว่า MOU ผ่านหูหรือผ่านตากันมาบ้าง เนื่องด้วยประเด็นร้อนแรงของแวดวงการเมืองที่มีการนำ MOU เข้ามาช่วยในการจัดตั้งรัฐบาล วันนี้ DIGITORY จะพาทุกคนมารู้จักกับการทำ MOU พร้อมความสำคัญที่เพื่อน ๆ ควรรู้กัน
MOU คืออะไร
MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding คือหนังสือบันทึกความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งจะระบุหลักเกณฑ์ แนวทางปฎิบัติ เพื่อดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกันระหว่างหน่วยงานหรือองค์กร โดยไม่มีผลทางกฎหมายและไม่ถือเป็นสัญญาผูกมัด
ยกตัวอย่างเช่น DIGITORY ทำ MOU ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล และบุคลากรร่วมกัน โดยแต่ละฝ่ายสามารถระบุสิ่งที่ตนเองต้องการและทำการหาข้อตกลงร่วม เพื่อเป็นการทำข้อตกลงถึงการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งร่วมกันนั่นเอง
รายละเอียดของการทำ MOU มีอะไรบ้าง
การทำ MOU ประกอบไปด้วยเป้าหมายหรือข้อตกลงร่วม ชื่อและลายเซ็นของผู้ทำข้อตกลง โดยอาจกำหนดวันที่ลงนามหรือวันที่มีผลบังคับใช้ รวมถึงบทบาทและหน้าที่ที่แต่ละฝ่ายที่ต้องดูแล ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงหรือขอบเขตที่มีร่วมกันว่าต้องการความเฉพาะเจาะจงมากน้อยแค่ไหน เช่น บางองค์กรอาจใส่ข้อตกลงแบบกว้าง ๆ เพื่ออิสระในการทำงาน หรือบางองค์กรก็ลงรายละเอียดเชิงลึกเพื่อลดความคลุมเครือในการทำงาน
ประโยชน์ในการทำ MOU
แสดงถึงเป้าหมายที่มีร่วมกัน เพื่อให้ผู้ทำข้อตกลงมองเห็นถึงเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอนาคต
ลดความไม่แน่นอน ผู้เข้าร่วมทุกคนสามารถทราบวัตถุประสงค์ร่วมหรือข้อกำหนดอื่น ๆ ในการทำ MOU ได้ ซึ่งจะลดความสับสนและความไม่แน่นอนระหว่างการทำงานร่วมกัน
ง่ายต่อการยกเลิกข้อตกลง อย่างที่กล่าวไปว่า MOU โดยไม่มีผลทางกฎหมายและไม่ถือเป็นสัญญาผูกมัด เปรียบเป็นสัญญาใจที่ทำร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นถ้าวันหนึ่งหากเราไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขที่ตกลงกันก็สามารถยกเลิกได้
โดยการทำ MOU มักนิยมทำระหว่างธุรกิจ องค์กร รวมถึงภาครัฐเพื่อกำหนดความเข้าใจในการทำงานร่วมกับของแต่ละฝ่าย นอกจากนี้ MOU ยังช่วยเพิ่มความชัดเจนในการทำงานให้ทุกฝ่ายใช้เป็นแนวทางร่วมกันในการปฎิบัติตามข้อตกลงนั่นเอง ถึงแม้ว่าการทำ MOU จะไม่เป็นผลทางกฎหมายแต่ก็สามารถเพิ่มความเชื่อมั่นระหว่างองค์กรได้เป็นอย่างดี