ตอนนี้หลายคนคงจะได้ยิน ได้รู้จักกับ “Clubhouse” กันบ้างแล้ว ว่าเป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียหน้าใหม่แห่งยุค ที่มีรูปแบบการสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในชุมชนผ่าน ‘เสียง’ เป็นหลัก ซึ่งทำลายกรอบการเป็นโซเชียลมีเดียหรือคอมมูนิตี้ในรูปแบบเดิมโดยสิ้นเชิง มากไปกว่านั้นการเข้าใช้งานก็ไม่ใช้ทุกคนที่จะสามารถดาวน์โหลดแล้วใช้งานได้ทันที จะต้องถูก Invite จากผู้ใช้งานแอปก่อน แต่สิ่งใหม่นี้จะอยู่ได้ยาวนานหรือเป็นเพียงแค่ “ไฟไหม้ฟาง” เท่านั้น ? เรามาลองวิเคราะห์กัน
ปัจจุบัน “Clubhouse” เกิดจากธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่กลายเป็นแอปพลิเคชันยอดนิยม อันดับ 5 ในหมวด “Social Media Network” ของ App Store รองจาก Facebook, Messenger, WhatsApp และ Discord จากข้อมูลของ Fortune แอปพลิเคชัน Clubhouse ได้รับการดาวน์โหลด 2.3 ล้านครั้ง ภายในเดือนมกราคม 2564 เดือนเดียวเท่านั้น หลังจากเปิดตัวในระบบ iOS ไปเมื่อ เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยทีมผู้ร่วมต่อตั้ง โรฮาน เซธ (Rohan Seth) และพอล เดวิสัน (Paul Davison) ขณะนั้นมูลค่าของเครือข่ายโซเชียลมีเดียนี้อยู่ที่เกือบ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มีรายงานว่าเมื่อไม่นานมานี้ ขยับขึ้นไปแตะพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว กลายเป็นยูนิคอร์นสตาร์ทอัพหน้าใหม่ ภายในระยะเวลา 6 เดือน มียอดผู้สมัครเข้าใจงานแล้วกว่า 6 ล้าน Users นับว่าเป็นแอปพลิเคชันน้องใหม่มาแรงที่ได้รับความนิยมในช่วงเดือนแรก ๆ ของการระบาดทั่วของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563
ที่มาของกระแสความนิยมส่วนหนึ่งเกิดจากอิทธิพลของคนดัง ?
หลังจากที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เข้ามาร่วมวงการสนทนาก็ทำให้แอปพลิเคชันนี้กลายเป็นกระแสขึ้นมาชั่วข้ามคืน
ข้อดีของ Clubhouse เมื่อเทียบกับ Social Media อื่น ๆ
- เป็นพื้นที่ Free Speech สำหรับกลุ่มคนที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน โดยทุกคนสามารถสร้างประเด็น ตั้งคำถาม หรือตั้งหัวข้อเพื่อให้คนมาพูดคุยกันได้อย่างอิสระ
- การสนทนาด้วยการ ‘พูด’ นั้นง่ายกว่าการพิมพ์ข้อความ และสามารถสื่อถึงอารมณ์ได้ดีกว่า
- ผู้ใช้งานสามารถเข้า – ออก ห้องสนทนาต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ ประหนึ่งว่าอยู่ในอีเวนต์งานสัมมนาเวทีใหญ่ ๆ ที่มีเวทีย่อย ๆ เลือกมีประเด็นพูดคุยหมุนเวียนกันไป สามารถเข้าไปนั่งฟัง หรือถกประเด็นกันได้ตามต้องการในแต่ละช่วงเวลา
- อาจเป็นพื้นที่สำหรับนักบำบัด หรือคนที่ต้องการจะปรับทุกข์ หรือคลายเหงาก็ได้
- เป็นพื้นที่สำหรับสร้างฐานผู้ติดตาม แฟนคลับ ของเหล่า Influencer ทั้งหลาย
แต่ถึงอย่างนั้นทางเรามองว่าแอปพลิเคชันนี้ มีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง
– ทั้งในเรื่องของ Invitation ที่จำกัด ซึ่งต้องรอให้มีคนรู้จักมาช่วยกด ‘เชิญเข้า‘ ถึงจะได้ใช้งาน เราเชื่อว่าหลายคนคงมีแอบกด Uninstall แอปนี้ไปบ้างแล้วแหละ เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาใครมาช่วยเชิญเข้า
– และเรื่องของระบบปฏิบัติการ ที่สามารถดาวน์โหลดได้เฉพาะคนที่ใช้ iPhone หรืออุปกรณ์ที่เป็น iOS 13 ขึ้นไปเท่านั้น เราเชื่อว่าคนที่ใช้งานระบบ Android ก็มีไม่น้อย ซึ่งตรงนี้อาจจะมองว่า เพิ่งเริ่มต้น และอาจจะยังอยู่ในช่วงทดลองระบบก็เป็นได้ แต่ในเมื่อจำกัดคนใช้งาน และยังต้องให้ผู้ใช้งานระบบ Android นั้น รอต่อไป จะทำให้กลายเป็นที่ไม่นิยมแพร่หลาย แต่อาจจะเป็นไปตามจุดประสงค์ของผู้พัฒนารึเปล่าที่อยากจะเน้นความใกล้ชิดและรู้จักกันในกลุ่มคนที่สนใจ
สรุปแล้ว Clubhouse นั้น “น่าจะได้ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” ?
– กลับมาที่กระแสโซเชียลในประเทศไทยมีทั้งโตไวและยังใช้กันอยู่แพร่หลายในปัจจุบัน เช่น TikTok หรือตัวที่มาไว ไปไว เช่น VERO แต่จากความที่จำกัดการเข้าถึงตามข้อเสียข้างต้น อาจจะทำให้เข้าถึงยาก, หรือคำที่เราเคยได้ยินคุ้นหูอย่าง “คนไทยเบื่อง่าย”, บางคนฟังอย่างเดียวก็เบื่อ อยากออกความเห็นแต่พูดไม่ได้ หรือมีแอปที่สามารถแชร์การพูดคุยได้ดีกว่าเช่น Discord, Zoom อาจจะทำให้กระแส Clubhouse เป็นเพียงแค่โอกาสที่ฉาบฉวยหรือของเล่นขำ ๆ ตามกระแสของยุคนี้ก็เป็นได้
– การที่แอปพลิเคชันได้รับกระแสความนิยมพุ่งแรงในระยะเวลาอันสั้นและอาจจะถือว่าเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ ในยุคปัจจุบันซึ่งเราเห็นชัดเจนว่า Influencer หรือพิธีกรหลาย ๆ ท่านเริ่มที่จะใช้ช่องทาง Clubhouse มาเป็นอีกทางหนึ่งในการพูดคุยและเปิดประเด็นที่น่าสนใจ แต่จะเติบโตต่อได้มากแค่ไหน หรือว่าจะมาไวไปไวเหมือนหลาย ๆ แพลตฟอร์มที่จางหายไปตามกาลเวลาหรือไม่ อย่างไรก็ต้องรอดูทิศทางการขับเคลื่อนของผู้คนในยุคออนไลน์นี้ต่อไป