ที่จริงแล้วมนุษย์เราใช้การเล่าเรื่อง (Storytelling) ในการติดต่อสื่อสารหรือถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันกันมาอย่างยาวนาน เช่น ภาพวาดบนกำแพงถ้ำในยุคโบราณ พ่อเล่าชีวิตในวัยเด็กให้ลูกหลานฟัง เพื่อนเม้าท์ชีวิตรักสุดเศร้าให้เราฟัง ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นการสื่อสารโดยใช้การเล่าเรื่องทั้งสิ้น
ในวงการโฆษณา นักคอนเทนต์ หรือนักการตลาด หลายคนคงได้รู้จักคำว่า Storytelling กันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน Storytelling ได้ถูกนำเข้ามาประยุกต์ใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์การเล่าเรื่องบนโลกออนไลน์หรือยุคดิจิทัล เพื่อเอื้อให้คนทำคอนเทนต์มีพื้นที่ให้ “การเล่าเรื่อง” มากกว่าเดิม โดยมีการนำเรื่องเล่า มาเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ และผสมผสานกับการใช้สื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์ จากการใช้ ภาพ เสียง หรือดนตรี เพื่อเพิ่มให้เรื่องเล่ามีมิติและสีสันแก่ตัวละคร หรือสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การเขียนบทความ การทำวิดีโอคอนเทนต์ หรือพอดแคสต์ ฯลฯ และด้วยเหตุนี้ เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในยุคปัจจุบันได้มากขึ้น “การเล่าเรื่อง” จึงมีความจำเป็นมากบน “โลกออนไลน์” ที่สิ่งต่าง ๆ สามารถสื่อสารถึงผู้รับข้อมูลได้อย่างรวดเร็วไม่ว่าจะผ่านทางสื่อโซเชียล หรือการทำการตลาดแบบออนไลน์ โดยต้องอาศัยความสามารถในการเล่าเรื่องเพื่อถ่ายทอดออกไป เพราะหากเล่าไม่ถูก หรือเล่าไม่เป็น ก็อาจจะทำให้คนที่ได้รับข้อมูลเกิดความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดได้ นั่นเป็นสิ่งที่นักคอนเทนต์ นักการตลาด หรือวงการโฆษณาควรรู้จักวิธีการเล่าเรื่องอย่างถูกต้อง
Storytelling คือ การเล่าเรื่องด้วยวิธีที่ดึงเอาประสบการณ์ หรือความรู้ที่อยู่ภายในของผู้เล่า ถ่ายทอดออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ถึงความเป็นมา จุดพลิกผัน และการเปลี่ยนแปลงของเรื่องเล่า ทำให้ผู้รับข้อมูลทราบและเข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น และเกิดจุดที่ประทับใจ จากการได้รับรู้เรื่องเล่านั้น
วิธีการ “เล่าเรื่อง” ให้น่าสนใจ และได้ผลดี ผู้เล่านั้นจะต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่กำลังจะเล่าถึง คือเรื่องอะไร และผู้รับข้อมูลมีความรู้สึกหรือเข้าใจต่อเรื่องนั้นมากน้อยแค่ไหน โดยจะยกตัวอย่างเช่น เรื่องเล่าของ “ผู้พันแซนเดอร์ส” หลายคนจะรู้จักชื่อนี้ว่าเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เคเอฟซี
ต้องเริ่มเล่าจากจุดเริ่มต้นของเรื่องราว (Introduction) บอกว่าใคร ทำอะไร
“ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส หรือ “ผู้พันแซนเดอร์ส” คุณลุงหน้าตายิ้มแย้มใจดีที่อยู่บนโลโก้ของเคเอฟซี เชื่อว่าทุกคนต้องร้องอ๋อ! เรารู้จัก ผู้พันแซนเดอร์ส ในฐานะผู้ก่อตั้งและคิดค้นไก่ทอดสูตรต้นตำรับเคเอฟซีที่ “ประสบความสำเร็จ” แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า 65 ปีก่อนหน้าที่เคเอฟซีจะถือกำเนิดขึ้น ชีวิตผู้พันแซนเดอร์สต้องเจอกับ ความล้มเหลว มาแล้วถึง 1,009 ครั้ง !” เป็นการเปิดเรื่องโดยการเล่าว่า ชีวิตผู้พันแซนเดอร์สที่เจอแต่ความล้มเหลวมามากกว่าพันครั้ง เพื่อให้คนติดตามต่อว่า ทำไมเขาล้มเหลวแล้ว ยังสามารถประสบความสำเร็จได้เป็นผู้ก่อตั้งเคเอฟซี
และเพิ่มความเข้มข้นของเรื่องราวให้น่าติดตามมากขึ้น ซึ่งมักเป็นจุดหลักของเรื่อง (Rising Action) บอกว่าทำไมเขาต้องทำ ขยายความว่าสิ่งที่ทำเป็นอย่างไร
“ชีวิตของผู้พันก็เหมือนกับหลายๆ คนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เริ่มตั้งแต่สูญเสียพ่อตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้ต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ชีวิตแต่งงานก็ล้มเหลวเพราะถูกภรรยาทิ้งเขาและลูกไป แถมพอทำงานก็ไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพใดเลย ไม่ว่าจะเป็นทหาร นักดับเพลิง ขายประกัน ทำงานที่สถานีขนส่ง ขับเรือกลไฟ หรือแม้กระทั่งเป็นชาวนา… เมื่อถึงจุดนี้ หลายคนอาจท้อแท้ในชีวิตไปแล้ว แต่สำหรับผู้พันแซนเดอร์สกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น” เล่าว่าผู้พันแซนเดอร์สล้มเหลวอย่างไรบ้าง และทำไมถึงล้มเหลวแล้วยังพยายามสู้ต่อไป ทำให้คนอ่านเริ่มเห็นใจและเข้าใจเขามากขึ้น
มีการเล่าต่อไปจนถึงจุดที่สร้างความประทับใจ เป็นจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือพลิกผัน (Climax)
“ “จุดพลิกผัน” ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของผู้พันแซนเดอร์สเกิดขึ้นในวัย 65 ปี เมื่อเขาคิดทบทวนและพบว่างานที่ผ่านมาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงเลย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จ แท้ที่จริงแล้วเขามีความสุขกับการทำอาหารต่างหาก ” บอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลง ที่พันแซนเดอร์สค้นพาตัวตนของเขา และสานต่อสิ่งนั้นจนสำเร็จ
Storytelling ต้องมีบทสรุป (Conclusion) ในตอนท้าย ว่าสุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดทำให้เกิดอะไรขึ้น
“จากนั้นเขาจึงมุ่งมั่นกับการเป็นพ่อครัวในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ต่อมาก็ได้คิดค้นไก่ทอดสูตรพิเศษที่กลายมาเป็น “ไก่ทอดเคเอฟซียอดนิยม” ในปัจจุบัน” บอกถึงผลลัพธ์ในความพยายามของผู้พันแซนเดอร์ส ว่าถึงแม้ว่าเขาจะล้มเหลวสักกี่ครั้ง ก็ยังประสบความสำเร็จได้
ใครก็ตามที่ท้อแท้ ลองมองผู้พันแซนเดอร์สเป็น “ไอดอล” ถ้ารู้สึกว่าอายุมากเกินกว่าที่จะเริ่มต้นใหม่ ลองดูว่าเราอายุถึง 65 ปีแล้วหรือยัง และหากถูกปฏิเสธมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ลองนับดูว่าถึง 1,009 ครั้ง แล้วหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ลองถามตัวเองดูอีกครั้งว่า “ทำไมจะล้มเลิก จะทิ้งฝันไปง่ายๆ หรือ” เป็นการฝากข้อคิดให้ผู้รับข้อมูลรู้สึกถึงสิ่งที่ผู้เล่าเรื่องต้องการจะบอกอะไรบางอย่าง ที่สะกิดใจ และทำให้คล้อยตาม หรือคิดตาม จนมองว่า ผู้พันแซนเดอร์สเป็น “ไอดอล” ของคุณ
เพียงแค่มีเรื่องราวที่สามารถเล่าที่มาที่ไปของทั้งหมดได้ หรือที่เรียกว่า “Storytelling” สินค้า บริการ หรือธุรกิจของคุณก็ดูมีความน่าสนใจขึ้นมาแล้ว จากนั้นคุณก็แค่ใช้เครื่องมือต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ในการถ่ายทอดเรื่องเล่าเหล่านั้นไปสู่ผู้คน เพื่อสร้างความประทับใจ ให้กลุ่มเป้าหมายคล้อยตามไปกับคอนเทนต์การเล่าเรื่องของคุณ เพราะการ “เล่าเรื่อง” ไม่ใช่แค่การบอกว่าคุณทำอะไร แล้วอยากได้อะไร
ขอบคุณเรื่องราวจาก:https://bit.ly/2LTHcV8