ถ้าจะให้นิยาม การตลาดออนไลน์ 2020 ในแบบสั้น ๆ DIGITORY ขอนิยามว่าเป็นปีแห่งการ “เอาตัวรอด” เพราะอะไรที่เคยวางแผนไว้ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาด ซึ่งมีผลมาจากวิกฤติโควิดที่ส่งผลกระทบกันไปทั่วทั้งโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยของเรา ต้องยอมรับเลยว่าเพราะวิกฤติในครั้งนี้ทำให้บางธุรกิจรายได้หดหายจนปิดตัวลง แต่วิกฤติเดียวกันนี้ก็เป็นแรงกระตุ้นให้บางธุรกิจปรับตัวได้ทันจนสามารถ “อยู่รอด” ได้ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าเราจะผ่านวิกฤติของปีนี้มาได้แล้ว แต่อย่าลืมว่าปี 2021 ที่กำลังจะมาถึงนี้ยังมีอะไรอีกมากมายรอเราอยู่ นี่เป็นสัญญาณบอกว่าคุณต้องเตรียมตัวให้พร้อม
สรุปเทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021
- ช้อปง่าย ขายคล่อง ในโพสต์เดียว (Shoppable posts)
- ค้นหาแต่ไม่คลิก (No-click Searches)
- คอนเทนต์ที่เชิญชวนให้มีส่วนร่วม (Interactive Content)
- ซื้อโฆษณาขั้นสูงและหมั่นปรับปรุง (Advanced Optimization)
- รัก(ษา)ลูกค้าให้มาก (Customer Relationship)
DIGITORY ขอใช้โอกาสนี้ในการแบ่งปันเทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 โดยสรุป พร้อมแนะนำเทคนิคเด็ดที่จะช่วยให้ธุรกิจของคุณพร้อมสู้ศึกการตลาด 2021 ได้แบบสบาย ๆ
1. ช้อปง่าย ขายคล่อง ในโพสต์เดียว (Shoppable posts)
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า Social Commerce หรือการใช้พื้นที่ Social Media ในการทำธุรกิจ เรียกว่าเป็นเทรนด์ที่มีการปูทางมาตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยสังเกตได้จากฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ทุกแพลตฟอร์มเริ่มเพิ่มเข้ามาให้เป็นลูกเล่นกับธุรกิจ เช่น
Facebook Shop
เปิดร้านค้าบน Facebook ติดตั้งระบบ Facebook Payment และนำสินค้าไปแท็กในโพสต์ได้ ก่อนที่จะนำไปซื้อโฆษณาโปรโมท
Instagram Shopping
นำสินค้าจาก Catalog (สามารถเชื่อมต่อจาก Facebook มาได้) และนำสินค้าไปแท็กในโพสต์ได้ กระตุ้นการขายได้มากขึ้น ไม่ต้องให้ลูกค้าแคปรูปแล้วข้ามแอปไปสั่งซื้ออีกต่อไป
LINE MyShop
สร้างร้านค้าบน LINE Official Account ติดตั้งระบบแชทและช้อป รับชำระเงินผ่าน Rabbit LINE Pay จัดการออเดอร์ได้ง่าย มีแอปพลิเคชันให้ใช้
แพลตฟอร์มเหล่านี้ได้มีการเพิ่มฟังก์ชันการขายสินค้าเข้าไปในบัญชีธุรกิจ โดยปัจจุบันนี้บางแพลตฟอร์มก็มีการต่อยอดไปจนถึงระบบรับชำระเงิน (Payment Gateway) เรียบร้อยแล้ว ทำให้การซื้อขายสินค้าสะดวกสบาย ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ในมุมมองของลูกค้า: การสั่งซื้อจะไม่ยุ่งยากอีกต่อไป ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าที่ชอบความสะดวกสบาย ไร้รอยต่อในการเลือกซื้อสินค้าไปจนถึงสั่งซื้อเพราะทำได้ผ่านแชทและเชื่อมไปชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ไม่ต้องกลัวความผิดพลาดในการโอนเงิน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กระตุ้นการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น
ในมุมมองของธุรกิจ: เพิ่มโอกาสในการขายสินค้ามากขึ้น ไม่ต้องกังวลเรื่องมิจฉาชีพ ไม่ต้องกลัวลูกค้าส่งสลิปปลอมมาให้ เพราะระบบได้เชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว
ข้อเสนอแนะ: ธุรกิจควรศึกษาเรื่อง Social Commerce ที่เป็นหนึ่งในเทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 ที่ห้ามพลาด โดยการตั้งค่าร้านค้าออนไลน์บน Social รวมทั้งเชื่อมต่อระบบรับชำระเงินให้พร้อม เพื่อเตรียมตัวรับลูกค้าที่มาจากการทำแคมเปญการตลาดออนไลน์
2. ค้นหาแต่ไม่คลิก (No-click Searches)
หากคุณเป็นคนที่ชอบค้นหาข้อมูลบน Google เพื่อหาคำตอบในปัญหาบางอย่าง คุณอาจจะเคยเห็นหน้าตาผลการค้นหาที่แปลกกว่าปกติ เช่น
นี่คือหน้าตาของผลการค้นหาแบบ Featured Snippets หรือที่เราเรียกกันอีกชื่อว่า “ตำแหน่งที่ 0” ซึ่งเป็นการแสดงผลที่จะนำเสนอข้อมูลที่อธิบายได้ละเอียดมากกว่าผลการค้นหาแบบปกติ ทำให้คนที่ค้นหาได้รับคำตอบโดยไม่ต้องคลิกเข้าไปอ่านด้านในให้เสียเวลา! ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า แต่อาจจะเป็นการเสียประโยชน์สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ทำเว็บไซต์ เพราะบางคนอาจจะคิดว่าลูกค้าอ่านข้อมูลจบแล้วก็ปิดการค้นหาทันที ไม่เข้าไปอ่านต่อ
แต่ทาง DIGITORY เองได้เคยมีการทำทดสอบระหว่างหน้าเว็บไซต์ที่ติดอันดับแบบ Featured Snippets กับหน้าเว็บไซต์ที่ติดอันดับแบบธรรมดา ผลปรากฏว่า หน้าที่ติดอันดับ “ตำแหน่งที่ 0” มีคนเข้ามามากกว่าเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว
ในมุมมองของลูกค้า: ผลการค้นหาหน้าตาแปลกใหม่ ให้คำตอบได้ชัดเจน บางแบบมีรูปภาพประกอบ อาจส่งผลต่อการจดจำแบรนด์ได้
ในมุมมองของธุรกิจ: เพิ่มพื้นที่ผลการค้นหา ทำให้เบียดเว็บไซต์ของคู่แข่งไปได้ และเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าที่สนใจในสินค้าหรือบริการจริง ๆ ได้กดเข้ามาอ่านรายละเอียดต่อ
ข้อเสนอแนะ: ต้องวางแผนการเลือก Keyword ที่ต้องการให้ติดอันดับให้ดี ๆ พร้อมทั้งทำ SEO บนเว็บไซต์เพื่อให้ติดอันดับสูงขึ้น จนกลายเป็นอันดับ 0 ได้
3. คอนเทนต์ที่เชิญชวนให้มีส่วนร่วม (Interactive Content)
เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น ทุกคนอยากมีส่วนร่วมและอยากแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้น ธุรกิจสามารถใช้สถานการณ์เหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นให้คนมาสนใจสินค้าหรือบริการได้ง่าย ๆ ด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ชวนให้คนที่เห็นอยากมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการเชิญชวนให้ comment หรือให้โหวตอะไรบางอย่าง โดยมีของรางวัล หรือไม่มีก็ได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น การใช้ Conversational Ads บน Twitter ทำแคมเปญแนะนำสินค้าใหม่ แทนที่จะเสนอขายสินค้าอย่างเดียว ก็ให้คนมาโหวตว่าอยากได้สินค้าที่มีคุณสมบัติเป็นอย่างไร เมื่อมีคนกด Tweet #แฮชแท็กของแคมเปญ ก็จะได้ยอดการมีส่วนร่วมเพิ่มไปในตัว (ปล. แคมเปญนี้ต้องติดต่อเอเจนซี่ที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทาง Twitter ให้เป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น) แต่นอกเหนือจากแคมเปญนี้แล้ว ยังมีช่องทางอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำไปเล่นได้ เช่น
- การเปิดโหวตใน Facebook
- การเปิดโพลใน Twitter
- การส่งแบบสอบถามให้ลูกค้าใน LINE Official Account
- การใช้ Instagram Stories ให้คนโหวต
ในมุมมองของลูกค้า: รู้สึกว่าธุรกิจมีการเปิดโอกาสให้พูดคุย เป็นการสื่อสาร 2 ทาง ไม่ใช่แค่รับฟังจากทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว เป็นการเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
ในมุมมองของธุรกิจ: ได้รับความคิดเห็นที่หลากหลาย อาจพบความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ สามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงได้ และยังได้ยอด Engagement อีกด้วย
ข้อเสนอแนะ: ต้องวางแผนการสื่อสารให้รอบคอบ เพราะกิจกรรมที่เล่นกับคนหมู่มาก อาจมีผลลัพธ์ได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ จึงต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี
4. ซื้อโฆษณาขั้นสูงและหมั่นปรับปรุง (Advanced Optimization)
อีกหนึ่งเทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 ที่ต้องมาแน่ ๆ คือการซื้อโฆษณา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงเครื่องมือโฆษณาออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะเป็น
- Facebook Ads
ช่องทางทำโฆษณายอดนิยม มีวัตถุประสงค์โฆษณาให้เลือกหลากหลาย ได้ตั้งแต่การสร้าง Awareness ไปจนถึง Conversion - Instagram Ads
ซื้อโฆษณาอย่างรวดเร็วผ่าน Instagram แอปก็ได้ หรือซื้อผ่านระบบ Facebook Ads Manager ก็ได้เช่นกัน - LINE Official Account
นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยกับลูกค้าแล้ว ตอนนี้ยังสามารถซื้อโฆษณาโปรโมทบัญชีหาผู้ติดตามเพิ่มได้ เช่น Gain Friends Ads - Twitter Ads
เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยเริ่มต้นทำงานด้วยโฆษณาบน Twitter เลือกวัตถุประสงค์ได้หลากหลาย แต่ต้องใช้งบประมาณเป็นค่าเงิน USD - Google Ads
เสนอขายสินค้าและบริการให้ผู้ที่เข้ามาค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของคุณ มีรูปแบบโฆษณาที่หลากหลาย แถมยังทำโฆษณาไปบน YouTube ได้ด้วย
แพลตฟอร์มเหล่านี้มีตัวจัดการโฆษณาเป็นของตัวเอง และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถซื้อโฆษณาได้โดยไม่ต้องผ่านเอเจนซี่ แน่นอนว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย เพราะใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ทำให้คู่แข่งทางธุรกิจเพิ่มขึ้น นอกจากคู่แข่งทางตรงแล้ว ยังมีคู่แข่งทางอ้อมที่ขายสินค้าใกล้เคียงกันและมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันด้วย จึงทำให้แนวโน้มต้นทุนค่าโฆษณาสูงขึ้นไปโดยปริยาย
หนทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจของคุณชนะคนอื่นได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า คือการปรับปรุงแคมเปญโฆษณาอยู่เสมอ (Optimization) ไม่ว่าจะเป็นการทำ Content ที่ตรงใจลูกค้า หรือการศึกษาเรื่องระบบประมูล (Bidding Strategy) ของแต่ละแพลตฟอร์ม เรียกได้ว่าใครที่มีข้อมูลมากกว่า ศึกษาการทำโฆษณาเชิงลึกได้มากกว่า ก็จะยิ่งมีโอกาสประหยัดต้นทุนได้นั่นเอง
ในมุมมองของลูกค้า: ถ้าธุรกิจมีการปรับปรุงแคมเปญโฆษณาอยู่เสมอ ลูกค้าก็จะได้รับโฆษณาที่ตรงใจมากขึ้น และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ลูกค้าสนใจทักเข้ามาสั่งซื้อสินค้าหรือบริการได้มากกว่า
ในมุมมองของธุรกิจ: สามารถใช้งบโฆษณาได้คุ้มค่า ทำให้มีงบไปใช้ในส่วนอื่น หรือประหยัดต้นทุนเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้
ข้อเสนอแนะ: ต้องศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) อย่างจริงจัง เพื่อนำข้อมูลนั้นมาใช้ในการตัดสินใจปรับปรุงแคมเปญโฆษณา
5. รัก(ษา)ลูกค้าให้มาก (Customer Relationship)
สุดท้ายแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือการรักษาฐานลูกค้า สำหรับธุรกิจที่ดำเนินการมาซักพักนึงแล้ว ย่อมมีฐานลูกค้าและข้อมูลการติดต่ออยู่ในมือ ไม่ว่าคุณจะเลือกช่องทางใดก็ตามในการพูดคุยกับลูกค้า สิ่งที่จะทำให้การรักษาลูกค้าประสบความสำเร็จคือ ความเข้าใจและการเอาใจใส่
การรักษาฐานไม่ใช่เพียงแค่ Upsell หรือเพิ่มยอดขายเท่านั้น คุณจำเป็นต้องเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริงก่อนโดยเริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า ถ้าคุณลองสังเกตดูจะพบว่าในแต่ละแพลตฟอร์มที่คุณใช้ จะมีระบบ Analytics แถมมาให้ด้วย ซึ่งนั่นคือที่ที่คุณควรต้องเข้าไปดูข้อมูล เช่น
- Google Analytics
ดูข้อมูลผู้คนที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์ รู้ตั้งแต่ช่องทางที่พาลูกค้าเข้ามา เข้ามาแล้วทำอะไร เปิดดูหน้าไหน ซื้อสินค้าอะไร ทำให้เราสามารถนำไปจัดเป็นกิจกรรมรักษาฐานลูกค้าได้ - Facebook Page Insights
ดูข้อมูลที่เกิดขึ้นบนแฟนเพจ ยอด Engagement ของแต่ละโพสต์โปรโมชันที่เราทำไป อัตราการทัก Inbox หรือปิดการขาย - LINE Official Account Insights
ดูข้อมูลที่เกิดขึ้นในบัญชี LINE OA ทั้งจำนวนผู้ติดตาม การแชท การใช้คูปอง การแจกแต้มในบัตรสะสมแต้ม รวมทั้งผลการตอบแบบทดสอบ วัดความพึงพอใจ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความสำเร็จของแคมเปญที่ทำ
ในมุมมองของลูกค้า: เมื่อธุรกิจมีการพัฒนาสินค้า หรือออกโปรโมชันใหม่ ๆ ออกมาได้ตรงใจ ลูกค้าก็อยากจะอยู่กับแบรนด์นั้น ไม่อยากย้ายไปไหน ก่อให้เกิดเป็น Brand Loyalty
ในมุมมองของธุรกิจ: ลดต้นทุนในการสร้างยอดขายโดยไม่ต้องมุ่งเน้นแต่การหาลูกค้าใหม่อย่างเดียว สามารถทำให้ลูกค้าเดิมเพิ่มการจับจ่ายได้ หรืออาจส่งผลในเรื่องของการบอกต่อ (Word of Mouth) จากลูกค้าเดิมสู่แวดวงของเค้า ทำให้ธุรกิจได้ลูกค้าใหม่ไปในตัว
ข้อเสนอแนะ: หา Insight ของลูกค้าให้เจอ เพื่อนำมาคิดเป็นแคมเปญที่ตรงใจ สร้างประสบการณดี ๆ ร่วมกันกับลูกค้า
จบไปแล้วกับ 5 เทรนด์การตลาดออนไลน์ 2021 ที่ DIGITORY สรุปมาให้ หลายเทรนด์เป็นสิ่งที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน แต่บางธุรกิจอาจยังไม่ได้ปรับตัวให้ทัน ลองนำเทคนิคที่เราแนะนำไปประยุกต์ใช้ดูนะคะ แล้วถ้ามีคำถามหรือคำปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ ติดต่อ DIGITORY ได้เลยค่ะ
และสำหรับใครที่กำลังต้องการศึกษาด้านการตลาดออนไลน์เพิ่มเติม สามารถมาเรียนกับ DIGITORY ได้เลยนะคะ เรามีทั้งคอร์สเรียนออนไลน์ และ Workshop สอนสด ที่สอนอย่างเจาะลึกพร้อมลงมือทำจริง รับรองว่าคุณจะสามารถกลับไปทำโฆษณาได้เองอย่างแน่นอน!
ดูรายละเอียดคลาสสอนสดจาก DIGITORY ได้ที่นี่
-
Google Ads เลือก Keyword ที่ใช่ ไต่อันดับบน Search Engine฿5,000.00
-
Google Analytics มี Website อ่าน Data ได้ มีชัยไปกว่าครึ่ง฿5,000.00
-
Facebook Advertising ครบทุกเรื่องที่คนลงโฆษณา Facebook ต้องรู้฿5,000.00
-
Digital Content Marketing สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ สื่อสารให้โดนใจลูกค้า฿5,000.00
-
Twitter Ads บุกโลกออนไลน์ใบใหม่ โปรโมทอย่างไรให้ได้ลูกค้า฿5,000.00
ดูรายละเอียดคอร์สออนไลน์จาก DIGITORY ได้ที่นี่
-
คอร์สออนไลน์ Facebook Advertising เจาะลึกทุกขั้นตอนที่คนลงโฆษณาควรรู้ กับ DIGITORY
฿3,000.00฿1,889.00 -
คอร์สออนไลน์ ตะลุยทุกฟีเจอร์ LINE Official Account กับ DIGITORY
฿3,000.00฿1,889.00