ทุกธุรกิจจะมี Target Group หรือ กลุ่มเป้าหมาย เพื่อผลักดันกลยุทธ์จนสุดท้ายกลายเป็นลูกค้าของเรา ซึ่ง Target Group จะแตกต่างกันไปตามบริบทของธุรกิจนั้น ๆ แม้ว่าเราจะทราบว่ากลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร แต่ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงได้ แล้วแบบนี้ควรทำอย่างไรดี
บทความนี้ DIGITORY จะพาทุกคนไปรู้จักกับเครื่องมือการตลาดรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยให้ธุรกิจรู้จักกับตัวตนของกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เครื่องมือนี้มีชื่อว่า Persona หรือ Customer Persona หรือ Buyer Persona ตัวช่วยที่ทำให้เราได้รู้จักและรู้ใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น แล้ว Persona คืออะไร มีข้อดีอย่างไรบ้าง หรือนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างไรนั้น บทความนี้มีคำตอบ
Persona คืออะไร
Persona คือตัวอย่างหรือตัวละครสมมุติของธุรกิจที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา สร้างขึ้นมาจากการสังเกตหรือการค้นพบ เมื่อได้พบเจอกับลูกค้าในสถานการณ์จริง แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมารวบรวม และวิเคราะห์กันต่อไป โดยการทำ Persona จะทำให้ธุรกิจเข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น ว่าเขาเหล่านั้นชื่นชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มีไลฟ์สไตล์อย่างไร และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้นักการตลาดหรือนักวางแผนกลยุทธ์ปรับการสื่อสารของธุรกิจไปสู่การขายของได้อย่างแนบเนียน
Persona ที่ดีจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ การออกแบบ UX/UI การทำแคมเปญการตลาด การเข้าถึงลูกค้าใหม่ หรือแม้แต่การรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของเราให้ดีที่สุด
สร้าง Customer Persona หรือ Buyer Persona ได้อย่างไร
ตัวอย่าง Customer Persona Template ซึ่งในแต่ละธุรกิจสามารถปรับแต่งข้อมูลตามความเหมาะสม เพื่อให้เข้ากับธุรกิจแต่ละประเภทได้มากยิ่งขึ้น สำหรับข้อมูลอาจได้มาจากการสำรวจ การทำแบบสอบถาม การวิจัยตลาด หรือการสังเกตผ่านตัวบุคคลก็ได้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการทำงานขององค์กรนั่นเอง
ตัวอย่าง Customer Persona
จากตัวอย่างข้างต้นสามารถแบ่งประเภทข้อมูลได้ดังนี้
ข้อมูลพื้นฐาน
ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป เช่น ชื่อ อายุ เพศ การศึกษา อาชีพ ตำแหน่ง เป็นต้น ข้อมูลพื้นฐานของแต่ละบุคคล อาจเกิดจากการสมมุติจาก Target Group โดยรวมของลูกค้า หรือผ่านการวิจัยตลาดก็ได้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการนำมาใช้วิเคราะห์การตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์
ข้อมูลด้านความสนใจ
ส่วนนี้เป็นข้อมูลที่เจาะลึกมากขึ้น สามารถเจาะจงข้อมูลเป็นความชอบบุคคล เช่น มีความสนใจเกี่ยวกับเทรนด์การตลาด สนใจในการพัฒนาบุคลิกภาพ ชอบเสพสื่อประเภท Pop Culture หรือ เป้าหมายในชีวิตคืออะไร เป็นต้น
ข้อมูลส่วนนี้อาจต้องใช้การสังเกต สอบถามกลุ่มลูกค้า หรือทำการวิจัยตลาด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เจาะลึกมากขึ้น ข้อมูลในด้านนี้สามารถช่วยให้เราต่อยอดบริการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้นได้ เช่น การทำแคมเปญโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องพบเจอกับโฆษณาของเราได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลด้านพฤติกรรม
พฤติกรรม หรือ ไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ที่สามารถทำให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น เช่น
- นาย A มีพฤติกรรมชอบอ่านหนังสือและเรียนออนไลน์ เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
- นาย A มีพฤติกรรมชอบเล่นโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok เป็นประจำ นอกจากนี้ยังพบว่านาย A ชอบเล่น Facebook และ Twitter เป็นสัดส่วนที่รองลงมาจาก TikTok อีกด้วย
- นาย A ชอบออกกำลังกายทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เป็นประจำ เนื่องจากเป็นวันสุดสัปดาห์ จึงทำให้นาย A สามารถออกกำลังได้อย่างเต็มที่
ข้อมูลส่วนนี้สามารถช่วยให้ธุรกิจนำข้อมูลของนาย A ไปประยุกต์ในการทำโฆษณาในแต่ละแพลตฟอร์มที่เจาะจงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เช่น ทำโฆษณาผ่านช่องทาง TikTok ให้มากขึ้น หรือ ทำ Content Marketing ให้เชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายที่ชอบการเรียนออนไลน์ หรือ ชอบการออกกำลังกาย เป็นต้น
ข้อมูลด้านแรงจูงใจ
ข้อมูลด้านนี้เป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ แน่นอนว่าข้อมูลส่วนนี้ในแต่ละกลุ่มเป้าหมายนั้นมีคำตอบที่แตกต่างกัน เพื่อให้สินค้าของเราตอบโจทย์กับผู้คนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย การทำ Persona จึงมีประโยชน์สุด ๆ นั่นเอง จากตัวอย่างของนาย A
- Motivation หรือแรงจูงใจในการซื้อสินค้าของนาย A แรงโน้มอันดับหนึ่งมาจากโปรโมชั่น รองลงมาคือความคุ้มค่า และราคา ตามลำดับ
ส่วนนี้ก็จะทำให้เราได้ทราบคร่าว ๆ ว่า กลุ่มลูกค้าอายุ 30 ปี มีแนวโน้มการตัดสินใจซื้อสินค้าจากโปรโมชั่น หากต้องการให้เขาเหล่านี้สั่งซื้อสินค้าอาจจะต้องทำโปรโมชั่นที่มีความดึงดูด หรือตั้งราคาที่จูงใจต่อพวกเขา เป็นต้น
ประโยชน์ของการสร้าง Persona
- การสร้าง Persona ทำให้ธุรกิจได้ทราบข้อมูลเชิงลึกของกลุ่มลูกค้าในธุรกิจมากยิ่งขึ้น
- ช่วยให้นักการตลาดวางแผน และกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจหรือแบรนด์ได้ชัดเจน
- ประหยัดงบในการทำโฆษณามากขึ้น และช่วยลดงบโฆษณาบางส่วนที่ไม่จำเป็น และไม่เกิดผลลัพธ์ได้
- ช่วยสร้างผลลัพธ์ในการสื่อสารกับลูกค้าตรงจุดมากขึ้น
- เมื่อทราบข้อมูลของลูกค้าแบบเจาะลึก ทำให้กำหนดเนื้อหา Content Marketing ได้ง่ายขึ้น ทั้งหัวข้อในการทำคอนเทนต์ การใช้ภาษา เพื่อสื่อสารให้ตรงจุดและตรงใจ
สรุป
Persona ก็คือ การนำข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า มาเป็นตัวอย่างหรือสมมติบุคคลหรือบริบทขึ้นมา เพื่อให้ธุรกิจได้เจาะการเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลอาจแตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจนั้น ๆ ทั้งในด้านข้อมูลพื้นฐาน พฤติกรรม ความสนใจ แรงจูงใจ ขึ้นอยู่กับโจทย์ของธุรกิจนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ Persona นี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับธุรกิจของคุณได้มากขึ้น และสำหรับใครที่กำลังศึกษาด้านการตลาดออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น DIGITORY มีคอร์สเรียนออนไลน์ เพื่อให้คุณพัฒนาศักยภาพในการทำงาน คลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างเพื่อทดลองเรียนฟรีได้แล้ววันนี้