เมื่อคุณเป็นนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานอย่างจริงจัง คุณอาจจะยังไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร ทำงานแบบไหน ยังคงหลงทาง และมักโดนถามถึงเรื่อง Career Path ในอีก 5 ปี 10 ปี อาจก่อให้เกิดความสับสนว่า Career Path คืออะไร ต้องวางแผนอย่างไร และยังมองไม่เห็นอนาคตของตนเอง หากคุณอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ควรเริ่มต้นวางแผน ตั้งแต่ตอนนี้ และลองค้นหาตนเอง พัฒนาทักษะ และตัวอย่างอาชีพ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนความก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเองในอนาคต
Career Path คืออะไร
Career Path คือ เส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ เป็นลำดับขั้นของตำแหน่งหน้าที่การทำงาน ย่อมมีเป้าหมายในระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อก้าวไปสู่บทบาทหน้าที่ที่แตกต่างหรือ เกิดความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยอาจเริ่มต้นจากการมีตำแหน่งน้อยไปสู่ตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้น แต่คุณอาจไม่จำเป็นที่ต้องเดินเป็นเส้นตรง ควรลองผิดลองถูก เพื่อเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ และอาจจะค้นพบสายอาชีพที่เหมาะสมกับคุณ การวางแผน Career Path นั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการกำหนดทิศทางในการก้าวหน้าหรือเติบโตในสายอาชีพที่เราได้วางแผนไว้เท่านั้น หากคุณรู้สึกชอบหรือสนใจสิ่งใด คุณสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพของคุณได้เสมอ
การวางแผน Career Path
สำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่พึ่งเริ่มต้นทำงาน หรือคนที่อยู่ในวัยทำงาน หากยังไม่ได้วางเป้าหมายหน้าที่การงานของตนเองในอนาคต ยังลังเลกับการเลือกเส้นทางอาชีพ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นวางแผน Career Path อย่างไร ไม่มีความมั่นใจ ยังค้นหาตนเองไม่เจอว่าเราจะทำงานแบบไหนในอีก 5 ปี 10 ปี เพราะฉะนั้น คุณจึงควรเริ่มวางแผนสร้าง Career Path ของตนเอง เพื่อช่วยให้เห็นภาพสายอาชีพในอนาคตที่ชัดเจนขึ้น
1. ตั้งเป้าหมาย
หลังจากที่เข้าสู่ช่วงวัยทำงานอย่างเต็มตัวแล้ว แนะนำให้คุณลองสำรวจความต้องการว่า คุณต้องการที่จะทำงานประเภทไหน ต้องการที่จะมีความเชี่ยวชาญในสายงานใด หากใครยังนึกไม่ออก แนะนำให้ลองหาบุคคลต้นแบบ เช่น ศิลปิน นักแสดง นักกีฬา แล้วให้ลองมองภาพตัวเองในอีก 5 ปี 10 ปี ข้างหน้าว่าจะต้องตั้งเป้าหมายหรือวางแผนอย่างไรให้เป็นไปตามบุคคลต้นแบบ เพื่อช่วยให้คุณวางแผนความก้าวหน้าของสายอาชีพได้อย่างชัดเจนขึ้น
2. พัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ
การจะเลื่อนตำแหน่งได้นั้น คุณต้องสามารถรับผิดชอบงานที่มีปริมาณและขอบเขตงานที่กว้างขึ้น คุณควรพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาและได้รับการยอมรับถึงความเหมาะสมในตำแหน่งนั้น ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สายอาชีพในแบบที่คุณคาดหวังไว้
3. สร้างความโดดเด่น
คุณต้องเต็มใจที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พยายามแสดงความสามารถและความโดดเด่นในงานที่ได้รับผิดชอบ สร้างความประทับใจให้แก่ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงาน เมื่อคุณมีผลงานโดดเด่นและมีความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานที่ดี ส่งผลให้คุณมีโอกาสได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น เนื่องจากคุณได้สร้างการยอมรับจากองค์กรและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร
ตัวอย่าง Career Path ในแต่ละสายอาชีพ
การวางแผน Career Path สำหรับบางคนอาจจะเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก ไม่สามารถวางแผนได้อย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละสายอาชีพมีความแตกต่างกันออกไป ไม่ได้เป็นลำดับขั้นตอนที่แน่ชัด เพื่อให้คุณเห็นภาพแต่ละสายอาชีพได้ชัดเจนขึ้น ทางเราขอแนะนำตัวอย่างอาชีพที่น่าสนใจประกอบการพิจารณาหรือนำไปปรับใช้ให้เข้ากับเป้าหมายตนเอง ซึ่งตัวอย่างที่นำมาเสนอนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเท่านั้น
1. Data Scientist
นักวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Scientist มักเริ่มต้นจากการเป็นนักสถิติ ทำงานในแวดวงวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analysts โดยคุณต้องมีทักษะที่จำเป็น เช่น การเขียนโปรแกรมขั้นพื้นฐาน การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ การคำนวณ รวมถึงการตีความและการนำเสนอให้เห็นภาพอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลนำไปใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงสุด
ตัวอย่าง Career Path สายอาชีพ Data Scientist
Data Scientist : Data Analysts > Senior-level Analyst > Analytics Manager > Specialist Analysts (Financial, Marketing, Systems) >Consultant
2. UX Designer
UX Designer ย่อมาจาก User Experience Designer หมายถึง การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน โดยสายงานนี้ผู้คนจะเริ่มต้นจากสายงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การออกแบบกราฟิก หรือการออกแบบ UI ก่อนที่จะเปลี่ยนไปใช้ UX โดยทั่วไปคุณควรมีทักษะการออกแบบต่าง ๆ การร่างภาพต้นแบบ (Wireframe) การสร้างต้นแบบ (Prototype) และทดสอบกับผู้ใช้ (Testing) มีความเข้าใจการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และปัญหาที่แท้จริง
ตัวอย่าง Career Path สายอาชีพ UX Designer
UX Designer : UX management > Advanced UX positions > Freelancing > UX consulting > UX specialist (Engineer, Searcher)
3. Project Manager
สายงาน Project Manager อาจจะมีหลายคนที่ไม่ได้เริ่มต้นจากการทำงานด้านการจัดการหรือเป็นผู้จัดการโครงการมาก่อน แต่เมื่อได้รับผิดชอบมากขึ้นและสั่งสมประสบการณ์ในการทำงาน จึงสามารถวิเคราะห์ภาพรวม เพื่อพัฒนาแก้ไขปรับปรุงในส่วนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น Project Manager จึงเป็นที่ต้องการสำหรับแทบทุกองค์กร โดยมีทักษะที่จำเป็น เช่น การวางกลยุทธ์ ความเป็นผู้นำบริหารทีม สามารถจัดการงานในเวลาที่กำหนดได้ และการสื่อสารที่ดี เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path สายอาชีพ Project Manager
Project Manager : Entry-level project management > Project manager > Senior project manager > Director of project management > VP of operations, COO
4. Human resources
Human resources หรือ HR ที่พนักงานทุกคนในองค์กรรู้จักกันดี ซึ่ง HR จะทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ โดยอาชีพนี้ต้องใช้ทักษะแก้ไขเฉพาะ ความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานทุก ๆ ฝ่าย การคัดสรรบุคคลเข้าทำงานภายในองค์กร ดูแลสวัสดิการให้กับพนักงาน รวมทั้ง การทำ Pay roll ให้พนักงานในองค์กร
ตัวอย่าง Career Path สายอาชีพ Human resources
Human resources : Human Resources Assistant > Benefits Assistant > Benefits Specialist > Assistant Director of Human Resources > Director of Human Resources
5. Digital Marketer
นักการตลาดที่ทำการตลาดบนระบบดิจิทัลหรือบนช่องทางออนไลน์ โดยสามารถทำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, TikTok, Line, Twitter หรือผ่านระบบ Search Engine (Google, Bing, Yahoo) เป็นสื่อกลางในการส่งข้อความจากนักการตลาดออนไลน์ไปยังผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งทักษะที่จำเป็น เช่น การคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจจากฐานข้อมูล การวางแผนทำตลาดออนไลน์ บริหารงบสำหรับการทำโฆษณาและทักษะการสื่อสารที่ดี เป็นต้น
ตัวอย่าง Career Path สายอาชีพ Digital Marketer
Digital Marketer : Digital Marketing Executive > Digital Marketing Specialist > Digital Marketing Manager > Vice President Chief of Marketing > Chief Marketing Officer
………
การวางแผน Career Path และตัวอย่างสายงานอาชีพที่น่าสนใจที่ได้นำเสนอนั้น อาจทำให้คุณได้มีแนวทางในการวางแผนสำหรับสายงานที่ตนเองสนใจเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการวางแผนเส้นทางความก้าวหน้าในสายงานอาชีพอย่างชัดเจน และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้เชี่ยวชาญและโดดเด่น เพื่อความเติบโตในสายงานอาชีพ