แน่นอนว่าการจะลงมือทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จก็ย่อมต้องมีการวางแผนมาก่อน ในด้านการทำธุรกิจก็เช่นกัน หากมีการวางแผนธุรกิจที่ดี ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น ซึ่งการวางแผนโครงสร้างของตัวธุรกิจไม่ได้มีเพียงอย่างเดียวเหมือนกับที่หลายคนเข้าใจ Business Model Canvas จึงจะมาช่วยให้การวางแผนของคุณทำได้ง่ายขึ้น
โมเดลธุรกิจ ต่างจากแผนธุรกิจอย่างไร ?
แผนธุรกิจ (Business Plan) เป็นแผนระยะยาวประมาณ 3-5 ปีที่กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจทั้งหมด ซึ่งหากจะหาข้อมูลและดำเนินการทำแผนธุรกิจจะค่อนข้างใช้เวลานานพอสมควร แต่ในขณะที่ โมเดลธุรกิจ (Business Model) เป็นรูปแบบการสร้างรายได้ของธุรกิจว่าเราจะหารายได้อย่างไร และผู้ซื้อเขาได้อะไรไปจากเรา ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ทุกธุรกิจควรมีและนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองอยู่เสมอ
ดังนั้นจึงมี ‘Business Model Canvas’ หรือเครื่องมือสร้างโมเดลธุรกิจเกิดขึ้นมา เป็นโมเดลที่ถูกพัฒนาและคิดค้นโดยคุณ Alexander Osterwalder เพื่อให้เจ้าของกิจการสามารถปรับรูปแบบรายได้ที่เหมาะสมกับความต้องการได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยในปัจจุบันทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้กันในองค์กรชั้นนำทั่วโลก
Business Model Canvas คืออะไร ? มาทำความรู้จักกันให้มากขึ้น
Business Model Canvas คือ โมเดลที่ใช้สำหรับการออกแบบ ประเมิน และวิเคราะห์ตัวธุรกิจอย่างครอบคลุม บนหน้ากระดาษเพียงแผ่นเดียว เพื่อให้ทุกหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรสื่อสารถึงสิ่งเดียวกันได้อย่างตรงประเด็น และนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งจะมีเทมเพลตตามรูปด้านล่างนี้
Business Model Canvas จะประกอบไปด้วยทั้งหมด 9 องค์ประกอบ ได้แก่
- ลูกค้า (Customer Segments—CS) ผู้ซื้อสินค้าและบริการ
ต้องรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่จะซื้อสินค้าและบริการของเราเป็นใคร
- คุณค่า (Value Propositions—VP) จุดขายของสินค้าและบริการนั้น
ต้องรู้ว่าจุดแข็งของสินค้าและบริการของเราคืออะไร
- ช่องทาง (Channels—CH) วิธีในการสื่อสารไปถึงลูกค้า
ต้องรู้ว่าจะใช้สื่อใด แพลตฟอร์มไหน ที่เราจะสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย
- ความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationships—CR) วิธีในการรักษาลูกค้าเดิม
ต้องรู้วิธีสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือ การอำนวยความสะดวก หรือการตอบคำถามต่าง ๆ
- กระแสรายได้ (Revenue Streams—RS) รายได้ของธุรกิจนี้
ต้องรู้ว่ารายได้หลักของเรามาจากอะไร
- ทรัพยากรหลัก (Key Resources—KR) สิ่งที่ต้องมีในการดำเนินธุรกิจ
ต้องรู้ว่าเรามีทรัพยากรอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม แต่ต้องเป็นสิ่งที่ทำให้ธุรกิจเกิดมูลค่าได้ทั้งหมด
- กิจกรรมหลัก (Key Activities—KA) กิจกรรมที่ต้องทำเพื่อให้โมเดลธุรกิจอยู่ได้
ต้องรู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำมีอะไรบ้างในการที่จะดำเนินธุรกิจ
- พันธมิตรหลัก (Key Partners—KP) ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการช่วยป้อนวัตถุดิบและการช่วยขาย
ต้องรู้ว่าเพื่อนคู่ค้าของเรามีใครบ้าง เพื่อที่จะพึ่งพาอาศัยกันได้
- โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure-C$) ต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ
ต้องรู้ถึงต้นทุนและค่าใช้จ่ายของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำหรือค่าใช้จ่ายที่ผันแปรได้
เมื่อธุรกิจได้ทำการกำหนดองค์ประกอบทั้งหมดครบถ้วนแล้ว ก็ขึ้นอยู่ว่าแต่ละธุรกิจจะนำไปปรับใช้เพื่อวางแผนรูปแบบการสร้างรายได้และวางแผนพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์อย่างไรกันบ้าง แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมและความต้องการของธุรกิจนั้น ๆ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพด้วยการนำ Business Model Canvas มาจัดเป็นหมวดหมู่
• หมวดหมู่ Value Propositions + Customer Segments + Customer Relationships
เป็นการหาว่า จุดเด่นของสินค้าและบริการของธุรกิจเราคืออะไรและมีความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร จากนั้นดูว่าใครที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะมาซื้อสินค้าและบริการของเรา และสุดท้ายคือขั้นตอนการรักษาฐานความสัมพันธ์กับลูกค้า ช่วยนำไปสู่การซื้อซ้ำและบอกต่อนั่นเอง
• หมวดหมู่ Channels
เป็นการวางแผนเรื่องช่องทางที่ต้องการจะสื่อสาร ดูว่าสื่อหรือแพลตฟอร์มใดที่กลุ่มเป้าหมายของเราใช้มากที่สุด ถ้าเรายิ่งเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารออกไปให้ตรง ก็จะยิ่งช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเห็นสินค้าและบริการของเรา มีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น
• หมวดหมู่ Key Partners + Key Activities + Key Resources
เป็นการดูว่าธุรกิจของเราจำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์หรือเพื่อนคู่ค้าด้านไหนและเป็นใครบ้าง จากนั้นดูว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องทำ และสุดท้ายแหล่งทรัพยากรที่ธุรกิจเราต้องใช้มีอะไรบ้าง มีอะไรที่ต้องจัดหาเพิ่มหรือนำสิ่งเดิมมาปรับใช้ได้ หากเรากำหนดหมวดหมู่นี้ไว้อย่างชัดเจนก็จะทำให้การดำเนินงานผ่านไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะได้มีการวางแผนหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องไว้อย่างชัดเจนแล้วนั่นเอง
• หมวดหมู่ Revenue Streams + Cost Structure
เป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นการคิดคำนวณความคุ้มค่าของธุรกิจ นั่นก็คือกระแสรายได้และเงินทุนนั่นเอง สิ่งนี้จะช่วยทำให้เราสามารถวางแผนการลงทุนและปรับปรุงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และนี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ Business Model Canvas ให้พอเห็นภาพเพื่อที่จะนำมาปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจ จะเห็นได้ว่าการใช้ Business Model Canvas เพียงแผ่นเดียวนั้น สามารถทำให้ผู้ประกอบการเข้าใจในตัวธุรกิจของตัวเองมากขึ้น รวมถึงบุคคลทั้งภายในและภายนอกองค์กรก็สามารถเข้าใจในรูปแบบของธุรกิจตรงกันอย่างชัดเจน ดังนั้นหากมีการนำ Business Model Canvas มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และสอดคล้องตามธุรกิจของตัวเอง ก็จะเป็นเหมือนตัวช่วยที่ยิ่งทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น